Industry Of The Future Industrial อุตสาหกรรมก่อสร้าง

อุตสาหกรรมก่อสร้าง


อุตสาหกรรมก่อสร้าง

          ในแวดวงของอุตสาหกรรม หลายๆ คนก็มักจะเข้าใจและจินตนาการไปว่าเป็นการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายเพียงอย่างเดียวแต่อุตสาหกรรมนั้นแบ่งได้เป็นหลายอย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่จะสามารถบอกได้ว่าประเทศนั้นเป็นประเทศแบบใด เช่น ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา

          คงจะไม่ค่อยมีใครคุ้นกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะสาธารณูปโภค ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้วยังช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการ พัฒนาภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs โดยจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่าในปี 2550 อุตสาหกรรมก่อสร้างมีจำนวนผู้ประกอบการทั้งสิ้น 69,940 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการ SMEs ร้อยละ 99.9 ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานใน อุตสาหกรรมก่อสร้างร้อยละ 78.1 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมก่อสร้างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 76 เป็นกิจการก่อสร้างอาคารและงานวิศวกรรมโยธา รอง ลงมาเป็นกิจการติดตั้งภายในอาคาร และงานตกแต่งอาคารให้สมบูรณ์ ตามลำดับ

แหล่งที่มาและโครงสร้างอุตสาหกรรมก่อสร้าง

งานจากภาคเอกชน

งานด้านธุรกิจ เมื่อมีคำว่าธุรกิจก็คงต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับการลงทุน โดยจะมีการวิเคราะห์ถึงผลกำไรขาดทุน ซึ่งงานก่อสร้างบางอย่างมักมีความจำเป็นที่ต้องข้องเกี่ยวกับด้านธุรกิจ เช่น การก่อสร้างโรงงานหรืออาคารสำนักงานเพื่อใช้เป็นที่ดำเนินธุรกิจ และงานก่อสร้างบางอย่างที่เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะเป็นการก่อสร้างเพื่อขายหรือเพื่อเอาไว้บริการ อย่างเช่น โรงงาน โรงแรม รีสอร์ท คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์และบ้านจัดสรร ฯลฯ สำหรับงานในส่วนที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจก็ได้แก่ งานก่อสร้างที่อยู่อาศัย

งานจากภาครัฐวิสาหะกิจ

งานด้านรัฐวิสาหกิจ จะคล้ายคลึงกับงานธุรกิจของเอกชน แต่การลงทุนส่วนหนึ่งจะมาจากรัฐบาลร่วมด้วย ส่วนที่เหลือจะมาจากรายได้ที่ได้จากการขายบริการต่างๆ ซึ่งงานก่อสร้างของภาครัฐวิสาหะกิจ มักจะเป็นการก่อสร้างโครงการที่มีความข้องเกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง อย่างเช่น งานก่อสร้างทางพิเศษ ได้แก่ การก่อสร้างทางด่วน จะมีรายได้มาจากการเก็บค่าผ่านทาง การท่าเรือ ได้แก่ การก่อสร้างท่าเทียบเรือ ซึ่งจะมีรายได้มาจากการเก็บค่าธรรมเนียมหรือการเก็บค่าเช่าคลังเก็บสินค้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้แก่ การก่อสร้างเกี่ยวกับโรงงานผลิตไฟฟ้าและระบบการจ่ายไฟฟ้า ซึ่งมีรายได้จากการขายไฟฟ้า เป็นต้น

งานจากภาคราชการ

สำหรับงานก่อสร้างในส่วนทางราชการ มักจะเป็นการก่อสร้างที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านสาธารณูปโภค ไม่ใช่การแสวงหากำไร โดยมีตัวอย่างงานของทางหน่วยราชการ เช่น กรมทางหลวง เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน สะพาน กรมชลประทานมีหน้าที่ทำการก่อสร้างเกี่ยวกับเขื่อน คลองส่งน้ำและโครงสร้างต่างๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกันกับการชลประทานทั้งหมด และทางด้านกรมโยธาธิการจะทำการก่อสร้างถนน สะพาน ระบบระบายน้ำทิ้งในเขตพื้นที่เมือง ฯ โดยการก่อสร้างดังกล่าวนี้จะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาจากงบประมาณแผ่นดิน