Industry Of The Future Industrial วิธีเลือกรถเครนโรงงานให้ถูกประเภท เพื่อยืดอายุการใช้งานและมีความปลอดภัย

วิธีเลือกรถเครนโรงงานให้ถูกประเภท เพื่อยืดอายุการใช้งานและมีความปลอดภัย


รถเครน

                รถเครนหรือ “รถปั้นจั่น” เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในแวดวงอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ปัจจุบันเครนแบ่งออกเป็นหลายประเภทเพื่อความเหมาะสมต่อการใช้งานที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยจุดประสงค์หลักการทำงานของเครนคือการยกสิ่งของหรือสินค้าที่มีน้ำหนักมาก มีขนาดชิ้นงานใหญ่ ด้วยวิธีการยกแบบแนวดิ่งคือยกจากข้างล่างยกขึ้นข้างบน หรือใช้เคลื่อนย้ายสิ่งของในแนวราบจากซ้ายไปขวา เป็นต้น

                การทำงานของเครนจะมีรัศมีในการยกสินค้ามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบูมหรือ “แขน” ของเครนว่ามีขนาดเท่าไหร่ ส่วนน้ำหนักบรรทุกจะขึ้นอยู่กับขนาดของเครน ความยาวของบูม และประเภทของเครนเป็นหลัก ซึ่งในงานก่อสร้างทั่วไปเราจะคุ้นเคยกับรถเครนแบบตีนตะขาบและเครนแบบล้อยางกันเป็นอย่างดี โดยเครนทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างอยู่ที่ความแข็งแรง โดยรถแบบตีนตะขาบจะเหมาะกับงานในพื้นที่ที่มีหลุมเยอะ ๆ พื้นผิวขรุขระไม่เรียบ อย่างพื้นที่ที่มีการบุกเบิกใหม่ แต่ไม่เหมาะกับการขับไปตามท้องถนนด้วยระยะทางเป็นร้อยเมตร เนื่องจากตีนตะขาบจะชำรุดได้ง่าย

                เมื่อเทียบกับเครนที่ติดตั้งบนรถบรรทุกที่ใช้ล้อเป็นยางรถยนต์ขนาดต่าง ๆ พร้อมระบบขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อ หรือ 4 ล้อ จะมีความแข็งแรงมากกว่าในลักษณะการขับข้ามจังหวัด หรือขับไปในพื้นที่ห่างไกล แต่ไม่ทนต่องานที่ต้องลงพื้นที่บุกเบิกที่เต็มไปด้วยหลุมลึก หรือมีความขรุขระ เพราะมักจะเกิดปัญหารถติดหล่ม จนปัจจุบันมีการพัฒนาให้รถประเภทนี้มีเครื่องจักรที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ยามติดหล่ม แต่การทำงานก็ยังไม่สามารถรับงานหนักได้เท่าเครนตีนตะขาบ

                เครนที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นรถที่ใช้งานได้ทั้งนอกสถานที่ และในสถานที่อย่างในบริเวณโรงงาน บนพื้นที่กลางแจ้ง หรือในเขตก่อสร้างต่าง ๆ แต่ยังมีเครนอีกหนึ่งประเภทที่เราอาจจะไม่คุ้นเคยกันนั่นคือเครนโรงงาน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

รถเครนโรงงานคืออะไร มีกี่ประเภท ใช้งานอย่างไร

                รถเครนโรงงานจะใช้งานในพื้นที่กลางแจ้งบริเวณโรงงาน อีกทั้งยังสามารถขับออกไปทำงานนอกสถานที่ได้ด้วย แต่สำหรับเครนโรงงานจะติดตั้งเพื่อใช้งานอยู่ภายในโรงงาน เพื่อความสะดวกในการยกหรือเคลื่อนย้ายชิ้นงานต่าง ๆ ภายในอาคารส่วนใหญ่จะควบคุมการทำงานด้วยระบบไฟฟ้า เรียกว่า “เครนไฟฟ้า” หรือ “เครนอุตสาหกรรม” สามารถแบ่งประเภทได้ดังต่อไปนี้

1. เครนแบบรางเดี่ยว

                เป็นเครนที่มีโครงสร้างน้ำหนักเบา สามารถยกน้ำหนักได้ไม่มากนัก ตั้งแต่ 1 ตันแต่ไม่เกิน 12 ตัน ใช้รอกไฟฟ้าในการควบคุมการเคลื่อนที่ ติดตั้งอยู่ภายในอาคารโรงงาน มีจุดประสงค์ในการใช้งานคือสำหรับเคลื่อนย้ายชิ้นงานต่าง ๆ จากซ้ายไปขวา หรือจากขวาไปซ้าย มีความสูงไม่มากนัก

2. เครนแบบรางคู่

                เหมาะสำหรับการเคลื่อนย้ายชิ้นงานที่มีน้ำหนักมากตั้งแต่ 5 ตัน ไปจนถึง 50 ตัน โครงสร้างเครนมีน้ำหนักมากจึงเหมาะกับอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้า โรงงานผลิตรถยนต์ และโรงงานผลิตสารเคมี เป็นต้น โดยทิศทางการเคลื่อนย้ายจะอยู่ในแนวจากซ้ายไปขวา หรือจากขวาไปซ้าย ควบคุมการเคลื่อนย้ายด้วยรอกไฟฟ้า

3. เครนสนาม

                เหมาะสำหรับโรงงานที่ไม่มีรถเครนกลางแจ้ง หรือไม่มีเสาสำหรับรองรับการติดตั้งเครนกลางแจ้ง เครนชนิดนี้นิยมใช้งานกลางแจ้งในอุตสาหกรรมก่อสร้างสำหรับเคลื่อนย้ายชิ้นงานที่มีทั้งขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมากอย่างโครงสร้างอาคารที่เป็นชิ้นส่วนแบบคอนกรีต หรือใช้งานในโรงงานผลิตเสาเข็ม เป็นต้น

4. เครนติดผนัง

                ติดตั้งอยู่ภายในโรงงาน รับน้ำหนักได้ไม่มากนัก เนื่องจากมีโครงสร้างที่เป็นเสายึดติดกับผนังโรงงานและมีแขนหรือบูมยื่นออกไป สำหรับเคลื่อนย้ายสินค้าหรือชิ้นงานไปตามแนวความยาวของผนังโรงงานจึงไม่สามารถรับน้ำหนักที่มากกว่า 10 ตันได้ เครนติดผนังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความสะดวก ประหยัดเนื้อที่ และมีความปลอดภัย

                รถเครนและเครนโรงงานมีลักษณะที่แตกต่างกันตรงที่การติดตั้ง สามารถเคลื่อนที่ได้กับเคลื่อนที่ไม่ได้ แต่การใช้งานมีจุดประสงค์ที่เหมือนกันคือ อำนวยความสะดวก ช่วยทุ่นแรงในการเคลื่อนย้ายสิ่งของหรือชิ้นงานต่าง ๆ การเลือกใช้เครนโรงงานควรเลือกประเภทให้เหมาะกับการทำงานและสอดคล้องกับชิ้นงานที่ผลิต การติดตั้งเครนโรงงานจะต้องคำนึงถึงพื้นที่ที่ใช้ติดตั้ง น้ำหนักของชิ้นงาน และความสะดวกในการเข้าไปซ่อมบำรุงเป็นหลัก เพื่อความปลอดภัยของพนักงานที่ทำงานอยู่ใต้เครนตลอดเวลา